วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4
รายวิชา ส 32101 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เวลา 3 ชั่วโมง


1. มาตรฐาน
ส 3.1 เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากร
ที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อ
การดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ
2. สาระการเรียนรู้
2.1 ความคิดรวบยอดและหลักการสำคัญ
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
2.2 กระบวนการ
- การแสวงหาความรู้
- คิดวิเคราะห์
- ทำงานร่วมกับผู้อื่น
- สำรวจข้อมูล
2.3 ค่านิยม
การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
3. จุดประสงค์การเรียนรู้
3.1 อธิบายนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงได้
3.2 บอกได้ว่าตนเองและเพื่อน ๆ ในโรงเรียนมีพฤติกรรมใดที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม
ด้านสังคม และเศรษฐกิจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.3 เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาของตนเองและเพื่อน ๆ ในโรงเรียนด้านสังคมและ
เศรษฐกิจ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
สำรวจและวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนด้านสังคมและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนด้านสังคม และเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้
5. หลักฐาน ร่องรอยแสดงความรู้
1. ตอบคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
2. บันทึกการประเมินตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. บันทึกการสัมภาษณ์ปัญหาของเพื่อนร่วมชั้นและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาซึ่งกันและกันอย่างน้อย 5 คน ใช้เวลา 20 นาที และบันทึกสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไข
4. บันทึกการสำรวจบุคลากรในชุมชน ในด้านการประกอบอาชีพ และศึกษาวิเคราะห์จัดกลุ่มสภาพปัญหา พร้อมทั้งระดมความคิดหาแนวทางการแก้ไขและเขียนคำขวัญรณรงค์การแก้ปัญหารูปแบบต่าง ๆ
6. กิจกรรมการเรียนรู้
คำถามท้าทาย
ถ้าเราดำเนินชีวิตแบบพอเพียงชีวิตเราจะเป็นอย่างไร
กิจกรรมสู่ผล
ชั่วโมงที่ 1
1. นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2. ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้
3. นักเรียนดูภาพการ์ตูน เรื่อง วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้โปรแกรม PowerPoint
4. นักเรียนศึกษาใบความรู้ที่ 4.1 เรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครูอธิบายเชื่อมโยง
ในเรื่องความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม
5. ครูให้นักเรียนจับคู่ตามความสมัครใจและร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับ หัวข้อต่อไปนี้
- เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร
- ถ้านักเรียนมีความพอประมาณในการใช้จ่ายจะเป็นเช่นไร
- นักเรียนมีเหตุผลในการใช้จ่ายอย่างไร
- ภูมิคุ้มกันในการใช้จ่ายของนักเรียนคืออะไร
- ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดผลดีต่อตนเองและครอบครัว
อย่างไร
- นักเรียนจะนำหลักคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
อย่างไร
6. นักเรียนทำใบงานที่ 4.1 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
7. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความหมายและความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
8. ครูและนักเรียนช่วยกันเฉลยคำตอบ
9. นักเรียนประเมินตนเอง โดยทำลงในใบงานที่ 4.2 เรื่อง ประเมินตนเองตามหลักปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียง
ชั่วโมงที่ 2- 3
1. ครูเล่าข่าวจากหนังสือพิมพ์เรื่อง การฆ่าตัวตาย การลักขโมย ถูกตำรวจจับ และถูกลงโทษ ให้นักเรียนฟัง ครูและนักเรียนสนทนาถึงสาเหตุและวิเคราะห์ปัญหาว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด (หนี้สิน การใช้เงินเกินตัว การไม่รู้จักประมาณ ฯลฯ) โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา (3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่งจะเป็นการทบทวนความรู้ที่นักเรียนเรียนมาแล้ว) โดยใช้สื่อนำเสนอด้วย PowerPoint และใบความรู้ที่ 4.2 เรื่อง แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
2. ครู เชื่อมโยงสภาพปัญหาจากข่าว จากสื่อต่าง ๆ กับปัญหาในชุมชนที่นักเรียนเคยพบเห็น
โดยระดมความคิดของนักเรียน จัดกลุ่มปัญหา เช่น
- ปัญหาด้านสังคม (สถานที่ตั้ง เสียงดัง แออัด กลิ่นเหม็น)
- ปัญหาการคมนาคม (รถติด)
- ปัญหาความปลอดภัย
- ปัญหาโจรผู้ร้าย
- ปัญหายาเสพติด
- ปัญหาการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับวัย
- ปัญหาเศรษฐกิจ (การทำมาหากิน ความยากจน) ฯลฯ
3. ครูมอบหมายนักเรียนเป็นรายบุคคล ศึกษาและสำรวจสภาพปัญหาของเพื่อนนักเรียน แล้ว
จัดกลุ่มสภาพปัญหา และเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันโดยทำลงในใบงานที่ 4.3 ปัญหา
นี้มีทางแก้
4. ครูให้นักเรียนศึกษา “เกษตรทฤษฎีใหม่” จากใบความรู้ที่ 4.3 เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่
ครูสรุปและเชื่อมโยงแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” กับหลักคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. ครูให้นักเรียนระดมความคิดร่วมกันว่า ในอาชีพต่าง ๆ สามารถนำหลักคิดตามปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้อย่างไร ให้นักเรียนอภิปรายร่วมกัน
6. แบ่งกลุ่มนักเรียนกลุ่มละ 5 คน คละกันตามความสามารถมีทั้งนักเรียนเก่ง ปานกลาง
และอ่อน ร่วมกันสำรวจ “อาชีพของบุคลากรในชุมชน” และสรุปปัญหา ข้อเสนอแนะแนวทาง
การแก้ปัญหา ลงในใบงานที่ 4.4 เรื่อง ข้อมูลของชุมชน แล้วเขียนคำขวัญรณรงค์การแก้ปัญหา
รูปแบบต่าง ๆ ติดป้ายนิเทศในโรงเรียน
7. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ให้นักเรียนบันทึกลงสมุด
8. ครูเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนกับหลักคิดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และ การนำไปใช้
ในชีวิตประจำวัน
9. ประธานกลุ่มรับแบบประเมินผลการทำงานกลุ่ม ใช้ประเมินการทำงานของกลุ่ม เมื่อ
กลุ่มร่วมกันปฏิบัติงานที่ครูมอบหมายในแต่ละครั้ง
10. ครูแจกแบบประเมินพฤติกรรมจริยธรรมรายบุคคลเพื่อให้นักเรียนประเมินตนเองใน
เรื่องความมีระเบียบวินัยในตนเอง และความรับผิดชอบ ครูจะให้ใช้เมื่อจบกิจกรรมในแต่ละแผนการสอน (แบบประเมินนี้นักเรียนแต่ละคนเก็บรักษาไว้ที่ตนเองเมื่อจะใช้ต้องหยิบขึ้นมาได้ทันที)
11. นักเรียนทำแบบทดสอบ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 10 ข้อ
8. สื่อ / แหล่งเรียนรู้
8.1 สื่อประกอบการเรียนตามแผนการสอน
1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
2. สื่อนำเสนอด้วย PowerPoint ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม การลักขโมย
การถูกจับกุม การถูกลงโทษ และข่าวต่าง ๆ ฯลฯ
3. ใบความรู้ที่ 4.1 เรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4. ใบความรู้ที่ 4.2 เรื่อง แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง
5. ใบความรู้ที่ 4.3 เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่
6. ใบงานที่ 4.1 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
7. ใบงานที่ 4.2 เรื่อง ประเมินตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
8. ใบงานที่ 4.3 เรื่อง ปัญหานี้มีทางแก้
9. ใบงานที่ 4.4 เรื่อง ข้อมูลของชุมชน
8.2 สื่อประกอบการค้นคว้าสำหรับครู
1. http://www.Sufficiencyeconomy.org สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ. เศรษฐกิจพอเพียง.
2. http://th.wikipedia.org วิกิพีเดีย. เศรษฐกิจพอเพียง.
3. http://www.sedb.org/ โครงการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง.

9. การวัดและประเมินผล
- การประเมินผลทางด้านจิตพิสัย เรียกว่า แบบประเมินผลพฤติกรรมทาง
จริยธรรม จะประเมิน 2 ด้าน คือ ด้านความรับผิดชอบ เช่น การส่งงานตรงเวลา การมี
อุปกรณ์การเรียนครบ และด้านความมีระเบียบวินัย เช่น การแต่งกายถูกต้อง เข้าเรียนตรงเวลา
ความตั้งใจเรียน ซึ่งนักเรียนจะต้องประเมินตนเองภายใต้ความดูแลของเพื่อนร่วมชั้นและครู เพื่อ
ป้องกันมิให้เข้าข้างตนเอง เมื่อประเมิน เสร็จทุกคนจะเก็บแบบประเมินไว้ที่ตนเองและจะใช้
ประเมินทุกแผนการสอน การสรุปผลคะแนนจะกระทำเมื่อสิ้นปีการศึกษา โดยให้คะแนนความ
รับผิดชอบ 5 คะแนน คะแนนความมีระเบียบวินัย 5 คะแนน รวม 10 คะแนน
- กระบวนการกลุ่ม ประเมินการทำกิจกรรมของนักเรียนเกี่ยวกับการทำงานกลุ่ม
คือ การวางแผน การปฏิบัติงานตามแผน และการประเมินผล
- การปฏิบัติงานตามกิจกรรมในใบงานต่าง ๆ โดยพิจารณาจากความสำเร็จ
ความถูกต้องของงานในแต่ละกิจกรรมการเรียนการสอน
มีวิธีการวัดได้โดย
9.1.1 ใช้แบบทดสอบหลังเรียน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง 10 จำนวน
9.1.2 ใช้แบบประเมินผลงานกลุ่ม
9.1.3 ใช้แบบประเมินใบงาน
9.1.4 ใช้แบบประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมรายบุคคล
9.2 เกณฑ์การวัดและประเมินผล ประเมินสิ่งต่อไปนี้
9.2.1 จากการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยดูจากแบบทดสอบ
หลังเรียน มีคะแนนที่ทำถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 50 จึงจะถือว่าผ่าน
9.2.2 จากแบบประเมินผลการทำงานกลุ่ม ให้ประเมินดังนี้
ผ่าน ใช้ตัดสินผลการปฏิบัติงานกลุ่ม ถ้าทำได้ระดับพอใช้รวมคะแนนแล้ว
ตั้งแต่ 11 คะแนน จึงจะถือว่าผ่าน
ไม่ผ่าน ใช้ตัดสินผลการปฏิบัติงานกลุ่ม ถ้าทำได้ระดับต้องปรับปรุง รวม
คะแนนแล้ว ต่ำกว่า 11 คะแนนลงมา ถือว่าไม่ผ่าน
9.2.3 จากแบบประเมินใบงาน มีคะแนนที่ทำถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 50 จึงจะ
ถือว่าผ่าน
9.2.4 จากแบบประเมินพฤติกรรมจริยธรรมรายบุคคล
9.3 เครื่องมือการวัด
9.3.1 แบบทดสอบหลังเรียน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
9.3.2 แบบประเมินผลการทำงานกลุ่ม
9.3.3 แบบประเมินใบงาน
9.3.4 แบบประเมินพฤติกรรมจริยธรรมรายบุคคล
10. บันทึกผลหลังการสอน
ผลการสอน………………………………………………………………………………… ………………………………………………………………………………………………………. …………………………………………………………………………………………………….....
ปัญหา/ปสรรค………………………………………………………………………………. ………………………………………………………………………………………………………. ……………………………………………………………………………………………………….
ข้อเสนอแนะ…………………………………………………………………………………. ............................................................................................................................................................. .............................................................................................................................................................